สุดยอดแนวคิดและวิธีจัดการงานส่วนตัวของคุณเองอย่างเป็นระบบที่ผมใช้ในชีวิตอยู่ทุกวันนี้

วิธีการจัดการ task อย่างไรให้ไม่รกสมอง

การจัดการ task และ project สำหรับหัวหน้างาน หรือ คนทั่วไป เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเรียนรู้และ มีความสามารถในการจัดการครับ โดยเฉพาะถ้าหากว่าคุณอยากจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ว่าคุณอยากจะให้ลูกน้องของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบจัดการงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้กันเลยก็ว่าได้ครับ วันนี้ผมก็จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับ concept ในการจัดการ task และกำหนดงานเพื่อติดตามงานแบบสังเขปให้ฟังกันสั้นๆแต่ได้ใจความกันก็แล้วกันนะครับ

คนที่รู้สึกเครียดและรู้สึกว่างานชั้นมันเยอะเหลือเกินแล้ว เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เค้าเหล่านั้นรู้สึกตึงๆ และรู้สึกว่างานเยอะอย่างงั้น ก็เพราะ ไม่ได้มีระบบในการจัดการงานของตัวเค้าเองเลย หรือ แม้กระทั่งตัวคุณถ้าหากว่าคุณยังคงงงๆ และ รู้สึกว่า ทำไมชั้นงานเยอะแยะเต็มไปหมด (แล้วก็พาลทำให้คุณเครียดอีกต่างหาก) แบบนี้แล้วล่ะก็ ผมยินดีด้วยน่ะครับว่า คุณก็เป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีการจัดการเรื่อง task management ครับ หรือมีแต่ก็ดีไม่พอครับ หรือไม่เข้าใจ concept ว่าจริงๆแล้ว คุณต้องทำอย่างไรหรือจัดการกับมันอย่างไร

เอางานทั้งหมดออกจากหัวคุณให้หมดเกลี้ยง !

คุณหนักหัวรู้สึกว่างานเยอะนั้น จริงๆแล้วสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ได้โดยการเอามันออกจากหัวคุณทั้งหมดได้ทันทีครับ โดยการเอา todolist ใดๆมาใช้งานครับ เช่น ผมแนะนำ Toodledo สำหรับคนที่จะจัดการเฉพาะงานของตัวเอง หรือ ClockingIT ถ้าหากว่าคุณจะจัด task ของตัวเองแล้วก็จะมีการ track task ของลูกค้าหรือคนอื่นๆที่อยู่ในทีมอย่างเป็นระบบครับ (รายละเอียดการใช้งานตอนนี้ผมยังไม่ขออธิบาย ก็เข้าไปใช้ๆงานกันก็คิดว่าไม่น่าจะยากอะไรหากว่าเข้าใจ concept ในบทความนี้ทั้งหมดแล้วน่ะครับ) หรือว่าจะธรรมดากว่านี้ก็คือ เอาปากกาแล้วก็กระดาษเปล่าออกมาครับ

แล้วสิ่งที่คุณต้องทำต่อไปก็คือ "จดประเด็นหรือหัวเรื่องงานของคุณออกมาจากหัวคุณทั้งหมด แล้วเลิกที่จะจำมันครับ" ความเครียดและ ความรู้สึกว่างานเยอะนั้น มันเกิดมาจากที่ว่า "สมองคุณเกิดการ refresh งานเหล่านั้นในสมอง เพื่อที่ตัวคุณเองเตือนตัวเองว่า จะไม่ลืมทำมัน"

แต่การที่ไม่ได้จดอะไรไว้เลยนั้น คุณก็จะต้องพะวงกับเรื่องเหล่านั้นเสมอ คิดเรื่องนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา (ยกเว้นว่างานนั้นต้องการความคิดสร้างสรรค์ การคิดซ้ำไปซ้ำมานั้นจะเป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ซึ่งผมก็อยากจะเล่าเป็น content เฉพาะไปเลยก็ได้น่ะครับถ้าหากว่าผมพิมพ์อัดเข้ามาในนี้มันก็จะแตกประเด็นไปอีก) เพราะงั้นแล้ว การที่คุณคิดวนไปวนมา ทำให้กิน RAM สมองของคุณ และ การคิดมันก็กินพลังงานอีกต่างหาก (ทำให้คุณหิวเร็ว อันนี้ผมเป็นน่ะครับ ถ้าหากว่าผมคิดอะไรเยอะๆจะหิวเร็วมาก 5 โมงเย็นต้องหาอะไรกินแล้วเพราะว่าหิวเหลือเกินจะทนไหวครับ)

เมื่อคุณเอาประเด็นต่างๆจดออกมาแล้ว ให้คุณอ่านอีกสักรอบแล้ว นึกว่าคุณคิดเรื่องเหล่านั้นครบแล้วหรือไม่ และถ้าหากว่าคุณตัดสินใจแล้วว่า มันครบแล้ว ! ให้คุณลืมเรื่องเหล่านั้นออกจากหัวไปเลย (เหมือนกับกด Delete ไปเลยครับ) เพราะ สิ่งที่คุณจะทำก็คือ คุณต้องมั่นใจในระบบแทนการจดจำในหัวแล้วคิดซ้ำไปซ้ำมาครับ มาถึงจุดนี้ เมื่อคุณมั่นใจว่าเรื่องราวทั้งหมดได้ list ออกมาเป็นข้อๆใส่ระบบ todolist หรือ กระดาษทั้งหมดแล้ว และ คุณไม่คิดเรื่องราวเหล่านั้นในหัวแล้ว มันจะทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นการยก load ออกจากตัวเองไปอย่างไม่น่าเชื่อครับ! ความรู้สึกนี้จะเป็นกันทุกคนครับที่เริ่มทำ step แรกที่ผมได้กล่าวไป และ คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการ task อย่างเป็นระบบ จะรู้สึกได้เหมือนกับว่า นี่เป็นโลกใหม่สำหรับตัวเค้าเลยก็ว่าได้ (ฟังดูเหมือนเวอร์แต่ว่ามันจริงสำหรับคนรอบตัวผมครับ)

ดูว่าแต่ละประเด็นอะไรคือ action ถัดไป

ลองกลับไปอ่านรายการใน list เหล่านั้นคือ แล้วทีนี้ให้แปลงประเด็นเหล่านั้นเป็น action หรือ ผมจะเรียกว่า  .. อืมผมก็เรียก action นั่นน่ะหละ เพราะจริงๆแล้วมันเหมือนกับที่กองถ่ายเค้าถ่ายหนังน่ะครับ คือ เมื่อจะเริ่มแสดงแล้ว ผู้กำกับก็จะร้องว่า แอ๊คชั่น เพื่อให้ตัวละครทั้งหมดในฉาก และ คนที่อยู่เบื้องหลังเริ่มงานของตนเองครับ แต่ action ที่ผมจะให้คิดต่อเมื่อคุณอ่าน todolist ของคุณอีกครั้งก็คือ ให้แปลงเรื่องราวแต่ละบรรทัด หรือ แต่ละเรืองของคุณเป็น สิ่งที่กระทำได้ แล้วเขียนมันแทนที่เรืองราวหรือประเด็นนั้นๆครับ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าหากว่าคุณคิดและเขียนออกมาว่า "ทำให้ลูกหายป่วย" ต้องแปลงเรื่องนี้ให้เป็น สิ่งที่กระทำได้ (action) โดยให้คุณคิดออกมาว่า action นั้นจะเป็น action ที่คุณจะทำได้โดยไม่มีแรงต้านใดๆเกิดขึ้นกับความรู้สึกของคุณ สำหรับ case นี้คือ ถ้าหาก่วาคุณอยากให้ลูกหายป่วย action ที่คุณกำหนดให้ตัวเองทำได้ทันที คือ พาลูกไปหาหมอที่ รพ.พระรามเก้า เป็นต้น สังเกตได้ว่าเป็น การพาลูกไป รพ. นั้นเป็น กิริยา ที่คุณทำได้ทันที โดยไม่ต้องเดือดร้อนคนอื่นหรือมีแรงต้านระหว่างทางครับ

อธิบาย Next Action พร้อมตัวอย่างกันอีกนิสนึง..

ผมขอยกตัวอย่างการคิด action ที่มันไม่ใช่ "action ถัดไป" จริงๆครับเพื่อที่จะได้เข้าใจได้ตรงกัน เช่น ถ้าหากว่าคุณต้องล้างรถเพราะว่ารถคุณะเยอะมากแล้ว สิ่งที่คุณคิดในหัวคือ "รถมันเลอะเทอะน่ารำคาญมากอยากจะทำให้รถสะอาด" คุณก็แปลงความคิดนี้เป็น action แต่ถ้าหากว่าคุณจจะล้างเองแล้ว น้ำยาล้างรถหมด next action หรือ action ถัดไป ที่คุณทำได้ไม่เป็นเป็น "การล้างรถ" แต่อย่างใด แต่กลับเป็น "การไปซื้อน้ำยาล้างรถ" แทนครับ เพราะฉะนั้นสรุปแล้ว ถ้าหาก่วาคุณอยากทำให้รถสะอาด next action ที่คุณจะต้องกำหนดใน todolist หรือ tasklist ก็คือ "ออกไปซื้อน้ำยาล้างรถจาก Big C"

เรื่องรกสมองแบบที่ต้องจัดการด้วยปฏิทิน

นอกจากนี้ยังจะมีงานอีกประเภทคืองานที่มีการกำหนด Duedate หรือเส้นตายอย่างแน่นอน งานเหล่านี้ให้จดบันทึกไว้ในปฏิทินส่วนตัวในมือถือของคุณแทนครับ แล้วให้ alert ตามเวลาที่กำหนด เช่น ให้เตือนก่อนหน้า 1 วันเป็นต้น งานประเภทนี้ต้องมีวิธีการจัดการเป็นพิเศษ ครับ และเหตุผล หลักๆ ในการคิดว่างานนี้เป็นงานที่ต้องจัดการบนปฏิทินก็คือ

– คุณยังไม่สามารถทำอะไรได้หากว่าเวลานั้นยังไม่มาถึง
– คุณทำอะไรตอนนี้ล่วงหน้าไม่ได้เลย และไม่มี action ใดๆที่กระทำได้ตอนนี้ (แต่ถ้าหากว่ามีก็ใส่ใน todolist เขียนเป็น action เอาไว้ได้ทันที)
– มันเป็นแค่การนัดหมายเท่านั้น ไม่ต้องมี action ใดๆ

สำหรับการนัดหมายนั้นคุณก็ต้องพิมพ์หรือ note เอาไว้ในปฏิทินครับ เพราะ มันเป็นอีกอย่างหนึ่งที่คุณจะต้อง refresh ในหัวคุณตลอดเวลาถ้าหากคุณไม่ได้ list หรือ note เอาออกจากหัวคุณครับ (เปลือง RAM สมองสุดๆ) เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อความโปร่งใสของสมองของคุณ เพื่อที่คุณจะได้เอาหัวดีๆของคุณไปคิดเรื่องอย่างอื่น ก็ต้อง clear การนัดหมายบันทึกออกไปยังปฏิทินแทนครับไม่ใช่ note เอาไว้ในหัวคุณเองครับ

มาถึงตอนนี้ คุณได้เรียนรู้แนวทางในการจัดการเรื่องราวในชีวิตคุณอยู่ สองสามประเด็นข้างต้นนี้ก็คือ core หรือแก่นสำคัญ สำหรับการจัดการเรื่องใดๆให้เป็นระบบ และไม่รกสมองครับ ทั้งนี้การถ่ายเรื่องราวทุกอย่างออกจาหัวของคุณ ไม่ว่าจะเป็น task ที่กระทำได้ หรือ เรื่องราวการนัดหมายใดๆก็ให้ Transfer note นัดหมายเหล่านั้นไปยัง calendar ของคุณครับ (ของผมใช้ Google calendar)

ยังเหลืออีกเรื่องก็คือ ข้อมูลใดๆ ที่คุณจะต้องจด เพื่อเป็นการบันทึกไว้ เมื่อมีการอ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้ คุณอยากที่จะจำมันครับ แต่เชื่อสิครับว่า สุดท้ายคุณก็จำไม่ได้หรอก เรื่องพวกนี้ผมจะ "จด" แทนการจำทั้งหมดครับ การจดผมจดด้วย note ใน evernote ครับ หรือไม่ถ้าหากว่าจะทำเป็นเอกสารที่ดูดีหน่อยผมจะเปิดเอกสารใน Google Docs เพื่อให้คนอื่นเข้าไปดูได้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง เรื่องที่อยากจะจำได้แต่ แนะนำว่าไม่ต้องจำเพราะว่าเปลืองสมอง ก็เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ซื้อมาวันไหนจากร้านไหน (ที่อยากจะจำได้เพราะ เมื่อมีปัญหาจะได้พามันไปซ่อมได้ถูก) , เพลงที่คุณอยากจะร้องตอนที่อยู่ห้องคาราโอเกะกับเพื่อนๆ (เพราะการนึกเพลงหรือชื่อเพลงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผม) , ขั้นตอนในการเปลี่ยนหัวหมึก printer ink tank ที่ผมไปติดมา (เล่นบอกมาซะยาวจำไม่ได้จดแทน และมันจะถูกเรียกข้อมูลมาอีกครั้งเมื่อผมหมึกหมดเท่านั้น เพราะงั้นแล้ว ผมก็อยากจะจำมันได้หรอกครับ แต่ไม่เอาดีกว่าจดมันดีกว่าเพื่อความ sure)

คุณต้องมีความคิดฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกว่า อยากกำจัด Task เหล่านั้นออกไปให้หมด

นี่เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่จำเป็นต้องคิดเอาไว้ในใจควบคุมกับระบบ todolist นั้นก็คือ การที่คุณจะต้องมีความทะเยอทะยานที่จะ clear list ใน todolist ออกไปให้หมด ! หากว่าคุณทำ list ของ action ที่ทำได้ออกมาแล้วแต่คุณไม่ทำ อยู่ดี เพราะคุณไม่มีใจที่อยากจะทำมัน หรือไม่อยากจะล้าง list ออกไปแล้วล่ะก็ “ระบบจะล่ม!” ไม่เป็นท่าทันที เพราะถ้าหากว่าคุณรู้ตัวเองว่าคุณเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว คุณไม่ต้องเสียเวลามาจัดการแล้ว ก็ไม่ต้องคิดซะว่าคุณงานเยอะยุ่ง เครียด ไม่รู้จะทำอะไรก่อนดีอยู่ดีครับ เพราะ ยังไงซะคุณก็ไม่ทำมัน แล้วก็ไม่อยากจะทำมันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วไม่ใช่หรือไม่ !? เพราะงั้นแล้วไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาทำให้มันเป็นระบบมากขึ้น และ ก็จมปรักกับกอง task นั้นๆต่อไปและเสีย RAM สมอง เพื่อ refresh ข้อมูลเหล่านั้นในหัวคุณเองต่อไปน่ะครับ จำเอาไว้ให้จงดีครับว่า “คุณต้องอยากจะ clear list ถ้าหากว่าคุณเห็น list แบบเยอะ ยิ่งต้องรีบจัดการมันใหม่หมดก่อนที่ task ใหม่จะเพิ่มเข้ามาครับ” หรือไม่อีกทางก็หนีไปจากเรื่องพวกนี้ครับ ถ้าหากว่าคุณทำได้ เช่น เข้าวัดลาสิกขาบทตลอดชีวิต หรือปลงตกกับเรื่องพวกนี้ครับ ซึ่งผมว่ามันก็ไมใช่ทางเลือกอยู่ดีว่ามั้ยล่ะครับ

ทำอย่างไรเมื่อ Task เริ่มเยอะ และ รู้สึกว่าเยอะเกินไปแล้ว !?

ผมพิมพ์เนื้อความนี้ดักเอาไว้หน่อยสำหรับคนที่ใช้งาน todolist ได้อย่างเป็นระบบแล้ว สิ่งที่คุณจะได้ประสบพบเจออย่างแน่นอนก็คือ “task ของคุณใน todolist มันจะขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ  .. ราวกับว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด และอัตราการลบ task ทิ้งนั้นต่ำกว่า อัตราการสร้าง task ใหม่” เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแสดงว่าคุณมีปัญหาแล้วล่ะครับต้องจัดการมันต่อ โดยสรุปคือ ไม่สร้าง task ใหม่ , clear task เก่า, ปิด task โดยไม่ทำอะไรไปเลย ลืมมันไปซะ !ซึ่งผมอธิบายเพิ่มเติมต่อไปนี้ย่อหน้าล่างนี้ครับ

แต่ก่อนอื่น .. ยังไงถึงจะเรียกว่าเยอะเกินไปแล้วล่ะ ? สำหรับผมแล้วผมมองว่า ถ้าหากว่าคุณมี actionable task หรือ next action ที่มากกว่า 10 รายการนั่นถือได้ว่าเริ่มเยอะแล้ว และ เป็นหน้าที่คุณที่จะต้อง clear มันครับ ผมว่าคนเราไม่น่าจะมีเรื่องอะไรให้ทำมากมาย ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ เพราะยังไงซะคนเราก็ทำอะไรได้แค่ครั้งละ 1 อย่างอยู่ดีในเวลาหนึ่งๆครับ อีกอย่าง ถ้าหากว่าเกินสิบรายการแล้ว ขอให้คุณ alert ว่าต้องเร่งทำ action เก่าให้ออก หรือไม่ก็ clear มันแบบลบไปเลย แล้วก็ไปดักเอาที่ต้นทาง โดยการปฏิเสธ task ใหม่ๆครับ

ปฏิเสธ task ใหม่/ลดการสร้าง task ใหม่ เมื่อคุณเห็นว่ามันเยอะเกินไปแล้ว

หากาว่า Task คุณเริ่มเยอะ คุณมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ task ใหม่ได้ด้วยเหมือนกันครับ ในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานโดยส่วนรวม สำหรับเรื่องส่วนตัว การปฏิเสธการเปิด task ใหม่ทำได้โดยการไม่สนใจที่จะสร้างเรื่องราวใหม่ๆนั่นเอง เช่น การลดวัตถุให้น้อยลง การทำกิจกรรมให้น้อยลง การอยู่นิ่งๆเสียบ้าง ไม่สุงสิงกับเพื่อนฝูง (หรือสุงสิงให้น้อยลง) เมื่อไม่มีเรื่องใหม่เข้ามา คุณก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับเรื่องเหล่านั้นคือ ไม่คิดจะไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็ไม่ต้องมานั่งหาว่าจะเที่ยวที่ไหน ก็ไม่ต้องมานั่งถามนัดเพื่อนว่าจะไปด้วยมั้ย ไม่ต้องมานั่งหาว่าจะต้องไปกินที่ไหน เป็นต้น Task เยอะแยะที่คุณไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เข้ามาก็ได้ แต่อย่างว่าล่ะครับ มันอาจจะไม่สะใจคุณถ้าหากว่าคุณเป็นคน active สุดๆที่อยากจะต้องทำอะไรตลอดเวลาหรือว่าอยากวิ่งวุ่นเหมือนว่าเป็นคนที่มีอะไรทำอยู่ตลอดเวลา แต่แน่ใจแล้วหรือว่า คุณชอบที่จะวิ่งวุ่นอยู่อย่างงั้น ?

การปฏิเสธ Task ที่เป็นงานจากคนภายนอกก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำได้ เช่น ถ้าหากว่าเป็นงานที่ office คุณอาจจะเอา task list แสดงให้ดูเพื่อความเห็นใจ หรือบอกคนที่จะจ่ายงานให้คุณ เพราะ ยังไงซะคนที่จะจ่ายงานให้คุณถ้าหาว่าเค้าเห็นว่าคุณไม่มี potential ที่จะทำได้ตอนนั้น เค้าก็ไม่อยากจะจ่ายงานมาให้สักเท่าไหร่ เพราะ กลัวว่างานจะไม่ออกหรืองานไม่เดินอยู่ดีครับ (แค่เสียโอกาสในการทำผลงานเท่านั้นเอง ก็แลกกันน่ะครับ)

นอกจากนี้ ให้พิจารณาปิด task หรือจบแบบ โดยที่คุณไม่ทำอะไรมันแล้ว

คุณอาจจะเลือกปิด task โดยคิดว่า task ไหนมันนานมากเกินไปแล้ว และตอนนี้มันก็ไม่ได้สำคัญเหมือนตอนที่ตอนที่เราเพิ่งใส่ task เข้าไปใหม่แล้วล่ะก็ ปิดมันไปเลยก็ได้ครับ แต่ต้องแน่ใจซะก่อนว่า ถ้าหากว่า task นั้นเป็น task ที่ได้รับการจ่ายงานมาจากคนอื่น ต้องบอกเค้าด้วยว่าเราจะไม่ทำแล้ว หรือ มันยังจะต้องทำอีกหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า จะไม่ได้โดนเล่นงานหรือตามเรื่องในภายหลัง เพราะ การปิด task แบบนี้เราก็เหมือนกับเป็นการเอางานออกไป ไม่ทำแบบดื้อๆน่ะครับ

สรุปประเด็นสำหรับบทความนี้กันเสียหน่อย

สังเกตได้ว่า เรื่องราวที่คุณอยากจะจำนั้น เหตุผลส่วนมาก็เพื่อที่จะ retreive ข้อมูลออกมาได้เมื่อจำเป็นต้องใช้มัน (just in case) แต่ก็ยังมีเรื่องราวอีกประเภทที่ผมแนะนำให้จดก็คือ เรื่องราวใดๆที่คุณคิดว่า คุณจะต้องออกแรงเพื่อหาข้อมูลนั้นซ้ำอีกครั้ง และ การได้มาซึ่งข้อมูลนั้นกินเวลายากเย็นเหลือเกินครับ เช่น ผมเคยหาว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ msn icon ใน Windows 7 ไม่แสดงบน taskbar  สิ่งที่เราต้องทำก็คือ Google หาวิธีการ และ ถ้าหากว่าคุณหาแล้ว เหมือนวาจะกินเวลา และเมื่อคุณได้วิธีการมาแล้ว แนะนำว่าให้จดเอาไว้แทนครับ โดยผมจะจดใส่ blog (เหมือนกับ website แห่งนี้ก็เป็นที่ฝาก memory ของผมอย่างหนึ่งเหมือนกัน) หรือว่าก็ไปจดเรื่องราวส่วนตัวใหม่อีกสักรอบใน Evernote คุณเองก็ได้ครับ ที่ผมเลือกจดเรื่องราวประมาณนี้ด้วยก็เพราะว่า ผมคิดแค่ว่าเมื่อคุณต้องทำอะไรใหม่ หรือทำงานนั้นซ้ำ แล้วถ้าหากว่าคุณจดแล้ว ทำให้คุณไม่ต้องมานั่งหาข้อมูลซ้ำว่าทำอะไรอย่างไร เรียกว่าการจดนั้นคุ้มค่าเวลากว่าเป็นไหนๆครับ

สรุปอุปกรณ์ที่ผมอ้างอิงในการจัดการ task มีดังต่อไปนี้ครับ

– กระดาษ ปากกา
Toodledo
ClockingIT
Evernote
Google Calendar
Google Docs

ลองดูแล้วกันนะครับ ผมอยากจะเปิดเป็น course ฉาย powerpoint ซะจริงๆเลยครับเพราะว่ามันมีประเด็นลึกๆอีกมากมายครับ ยังไงถ้าหากว่าคุณคิดว่าน่าสนใจยังไงก็ comment ทิ้งเอาไว้น่ะครับ

คำค้นหาของคุณที่มาเจอหน้าเว็ปนี้:

  • วิธีจัดการงานเยอะ
  • วิธีจัดการ งานเยอะ
Submit your comment

Please enter your name

Your name is required

Please enter a valid email address

An email address is required

Please enter your message

rackmanagerpro.com © 2024 All Rights Reserved

Rackmanagerpro.com all right reserved 2007 - 2019

Copyright by Rackmanagerpro.com

Content Creted by Rackmanagerpro.com