สอนวิธีการใช้งาน TUYA APP หรือ Smart Life App เพื่อให้เป็นระบบกันขโมย

ระบบกันขโมยตอนนี้ เราสามารถติดตั้งเองและออกแบบเองได้ง่ายกว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนเอามากๆ เพราะ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนามามากแล้ว อันได้แก่ Zigbee Protocol ที่ได้รับการพัฒนาออกมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว หรือที่เราเรียกว่า ZigBee เวอร์ชั่น 3.0 มันจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งในบ้านส่งสัญญาณต่อผ่านกันได้จำนวนมาก (ส่งต่อกันเป็นทอดๆในเส้นทางที่สะดวกที่สุด) เราเรียกกระบวนการส่งต่อข้อมูลแบบทวนสัญญาณซ้ำๆด้วยอุปกรณ์พวกนี้ว่าเป็นการทวนสัญญาณ (repeat signal) ทำหน้าที่เหมือนกับ repeator ตัวทวนสัญญาณ และ ต่อกันเป็นโครงข่ายระหว่างกัน เราเรียกโครงข่ายแบบนี้ว่า Mesh Network 

ส่วนตัวแล้วแนะนำให้เลือกใช้ Hub ของ Tuya และให้ดูสเป็กว่าเป็น Zigbee ในการเชื่อมต่อระหว่างตัว Hub และ อุปกรณ์ย่อยๆอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่อธิบายแล้วข้างต้น สำหรับประเทศไทย แนะนำให้ใช้ ZigBee Protocol เป็นหลัก มากกว่าการเลือกที่จะใช้ Function Z-wave ได้ อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่า Hub นั้นรองรับทั้งหมดได้ก็ถือว่าเป็น ตัวเสริมเสียมากกว่า เพราะ อุปกรณ์จากจีนเกือบทั้งหมดนั้นจะเป็น Zigbee เว้นแต่ว่า คุณจะใช้อะไรของฝรั่งมังค่าเขาก็จะใช้เป็น Z-wave กันด้วย ทำให้ Hub อาจจะต้องรับสัญญาณ​ Z-wave ได้ด้วย (โดยแต่ประเทศก็จะเป็น Z-wave คนละคลื่นอีกต่างหาก เรียกได้ว่า ต้องเป็นของประเทศใครประเทศมันก็ว่าอย่างงั้น)  เอาเป็นว่า “ลืมๆ เรื่อง Z-wave ไปเลยก็แล้วกันเพราะมันอยู่ยากเอามากๆ” 

การออกแบบระบบป้องกันขโมยที่ดีให้แยกแยะกิจกรรมและพื้นที่ใช้งานก่อน 

ให้เรากำหนดส่วนพื้นที่บ้านออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันเสียก่อน คือ

  1. พื้นที่ประเภท (1) : ส่วนที่จะไม่มีคนในบ้านอาศัยเดินเข้าออกในพื้นที่นั้นได้เลย ! ตัวอย่างเช่น ระเบียงบ้านภายนอกที่ไม่มีราวกั้น ด้านนอกกระจกบ้านแต่มีทางเดินที่พอเดินได้สำหรับโจรเท่านั้น หลังข้างบ้านเป็นต้น สังเกตได้ว่าพื้นที่เหล่านี้ คนปกติอย่างเราๆท่านๆจะไม่ได้ออกเดินเล่นตากลมอะไร หรือ ไม่มีการไปใช้งานพื้นที่เหล่านั้นได้ แต่กลับทางกัน เส้นทางหรือพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สำหรับโจร! เอาไว้เดินเพื่อเลือกเข้าหน้าต่างบ้านของเราแทนเสียมากกว่า ทั้งนี้ เราจะกำหนดให้พื้นที่ประเภท (1) นี้ได้รับการป้องกันตลอดเวลา เพระ มันจะเป็นโจรเท่านั้นที่ไปยังพื้นที่นั้นไม่ว่าเวลาใดก็ตาม 
  2. พื้นที่ประเภท (2) : ส่วนที่มีคนในบ้านอาศัยเดินผ่านเป็นประจำตลอดทั้งวันเว้นยามวิกาล ก็คือพื้นที่บ้านปกติห้องอาหารห้องครัวห้องรับแขก เราใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นปกติทุกวัน เว้นแต่ตอนที่เราไปนอนแล้วเท่านั้นพื้นที่เหล่านี้จะไม่มีคนเดินเข้าออกแต่อย่างใด ก็แปลว่า ถ้าหากว่ามีคนเดินผ่านยามวิกาลแปลว่า เขาเหล่านั้นเป็นโจรที่เดินผ่านอย่างแน่นอน เราจะกำหนดให้พื้นที่ประเภท (2) นี้เป็นพื้นที่ที่เราจะป้องกันจำเพาะยามวิกาล หรือตอนที่เราไม่อยู่บ้าน เพราะ เมื่อยามวิกาลแล้วหรือเราไม่อยู่บ้าน พื้นที่ประเภทนี้ก็ต้องไม่มีคนเดินผ่านเข้าไปยังพื้นที่อย่างแน่นอน ถ้าหากว่ามีก็คือ โจรเท่านั้น
  3. พื้นที่ประเภท (3) : ส่วนที่มีคนในบ้านเดินผ่านในยามวิกาล เช่น ห้องนอนของเจ้าของบ้าน ทางเดินผ่านเพื่อไปเข้าห้องน้ำของแม่บ้าน เป็นต้น ส่วนพื้นที่ประเภทนี้ เราจะแยกแยะไม่ได้หรอกว่า เมื่อมีคนเดินผ่านและ จะเป็นโจร หรือเป็คนในบ้านกันแน่ แม้ว่าจะเป็นยามวิกาลก็ตาม เราจะไม่สามารถทำอะไรกับพื้นที่ประเภทนี้ได้ หรือ ถ้าหากว่าจะทำให้กำหนดเป็นการเด้งเตือนแบบเบา หรือทำให้เกิดเสียงเมื่อมีการเดินผ่านเท่านั้น เพราะ เราแยกไม่ได้หรอกว่า เขาคนนั้นคือแม่บ้าน คนในบ้าน หรือว่าเป็นโจรจากภายนอกบุกรุกเข้ามากันแน่ 

ถ้าหากว่าคุณเข้าใจประเภทของพื้นที่ทั้งสามประเภทนี้แล้วไซร้ คุณคงเข้าใจได้ด้วยว่า  เราจะต้องเน้นการออกแบบระบบกันขโมยที่มุ่งหวังไปที่พื้นที่ประเภท (1) และ (2) เป็นสำคัญ โดยเราจะทำอะไรไม่ได้มากนักกับพื้นที่ประเภทที่สาม หรือกลับทางกัน บ้านของคุณ ควรจะกำหนดให้มีพื้นที่ประเภท (3) นั้นน้อยๆเป็นการดี โดยการกำหนดให้เส้นทางเดินของแม่บ้านเป็นเส้นทางที่แน่นอนว่าให้เดินทางไหน จากไหนไปไหน เพื่ออะไร เพื่อลดขนาดของพื้นที่ประเภทพื้นที่ (3) ลงไปให้ได้มาก 

เริ่มจากความเข้าใจโจรการเสียก่อนว่าเขาเลือกเวลาทำงานและสถานที่ทำงานจากอะไร !? 

ในมุมมองของโจรที่ต้องการเข้ามาเพื่อขโมยของ ทรัพย์สิน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ที่เอาไปขายได้นั้น เขาจะเลือกจากบ้านหรืออาคารใดๆที่ไม่มีคนอยู่ในนั้นเสียก่อน หรือ ถ้าหากว่า จะมีีคนอยู่ก็คนเหล่านั้นจะต้องหลับสนิท และ โอกาสที่จะลุกขึ้นมาเพื่อไล่ล่านั้นน้อยกว่า ถึงจะเหมาะสมกับการเข้าโจรกรรม โดยโจรจะสังเกตจาก “ระบบปรับอากาศ” ว่าห้องใด มีการเดินเครื่องอยู่แปลว่า ห้องนั้นมีคนอยู่เป็นห้องนอนหลัก และ มีคนอาศัยอยู่ หรือหากห้องไหนมีแสงสว่างก็อาจจะแปลว่าได้ น่าจะมีคนเดินเข้าออกหรือพักอาศัยอยู่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน (เพราะไม่ใช่ทุกห้องจะเปิดแอร์ระหว่างนั้น เขาอาจจะเลือกเปิดพัดลมก็ได้) 

ทางเข้าของโจรจะเลือกเข้าจากมุมอับที่ด้านนอกนั้นก็มองไม่เห็นด้วยสายตาคนทั่วไป และ แม้ว่าเข้ามาแล้วก็โอกาสเห็นได้จากคนในบ้านนั้นน้อยกว่า โดยมากจะเลือกเข้าจากทางด้านหลังบ้าน เพราะ สามารถสังเกตข้อมูลได้ครบถ้วนนั้น คอยร้อนที่เดินอยู่หรือไม่ หน้าต่างห้องมีเปิดไฟแสงสว่างหรือไม่ เป็นต้น และระบบรักษาความปลอดภัยนั้นอ่อนด้อยกว่าชั้นล่างมากที่เป็นโซนประเภทที่ (2) โดยมากแล้วชั้นสองของบ้าน(สำหรับบ้านสองชั้น) ขะเป็นโซนประเภทที่ (3) เพราะเจ้าของบ้านก็อาจจะเดินไปเดินมาได้แม้ยามวิกาลก็ตาม ทำให้เป็นรูโผล่ของการเข้ากระทำการโจรกรรมได้ในที่สุด ทางเข้าที่เหมาะเจาะคือเข้าไปยังห้องนอนที่ไม่มีีคนน้อยได้ง่ายๆ แบบไร้รอยต่อ เพราะระบบกันขโมยไม่ได้รับการติดตั้งเอาไว้

โจรเข้ามาเพื่อขโมยทรัพย์สิน และ เป็นไปได้เขาก็ไม่อยากจะเผชิญหน้ากับเจ้าของบ้านสักคน เพราะ ถ้าหากว่าเขาเผชิญหน้า เขาเองก็เสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากการไล่ล่า เขาไม่รู้หรอกว่าในบ้าน เจ้าของบ้านมีอาวุธอะไรที่ไหนบ้างและ เขาให้ความสำคัญกับทรัพย์สินมากน้อยเพียงใดหากเทียบกับชีวิตของเขาแล้ว มีหลายครั้งที่เจ้าของบ้านนั้นกล้าที่จะเสี่ยงเพราะทรัพย์เหล่านั้นเป็นก้อนสุดท้ายที่มีแล้ว และ หากโดนโจรกรรมไปก็จะทำให้เสียโอกาสอะไรต่างๆมากมายได้ และนั้นคือความเสี่ยงของโจร ! นอกจากจะโดนจับได้แล้วยังจะเจ็บตัวได้ไม่ยาก ดังนั้นเพื่อการเลี่ยงโอกาสการเผชิญหน้า วันทำการของคุณโจรที่ว่า ก็คือ วันที่เจ้าบ้านไม่อยู่ เช่น วันหยุดสำคัญต่างๆ วันหยุดพิเศษ เป็นต้น พวกนี้จะมีโอกาสที่โจรจะทำงานได้มากเป็นพิเศษ

กลับมาคิดในมุมมองคนออกแบบระบบกันขโมยกันดูแทน 

ในเมื่อเรารู้แล้วว่า โจรเอาตรรกะอะไรมาคิดเพื่อเลือกบุกเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัว บ้านพักอาศัยส่วนตัว เราก็สามารถออกแบบแนวรบเพื่อป้องกันได้โดยคิดแบบเดียวกันโจรนั่นเอง ให้เราเน้นไปที่ชั้น 2 เป็นหลัก โดยเราจะต้องทำให้แน่ใจได้ว่าชั้นหนึ่งนั้น ระดับ ground floor จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันขโมยเต็มรูปแบบถึงเครื่องแล้ว ทั้ง motion sensor ที่จับการเคลื่อนไหว เซนเซอร์การเปิดปิดหน้าต่างประตู หรือ ติดตั้งตัวรองรับการกระแทกกับกระจกหน้าต่างบนที่น่าแงะที่สุด ในเหลือบของบ้าน 

ให้เราคิดป้องกันออกเป็นชั้นๆด้วยกัน คือ ชั้นแรกคือนอกรั้วบ้านแนวกำแพง ชั้นที่สองคือนอกอาคารบ้าน ชั้นที่สาม คือในบ้าน! ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดกรณีชั้นที่สามทำงานได้ เพราะฉะนั้นแล้ว แนะนำให้ออกแบบแนว ชั้นที่ 1 และ 2 ให้ได้รับการแจ้งเตือนและกริ่งสัญญาณดังก่อนที่โจรจะเข้าในพื้นที่ป้องกันชั้นที่สามได้ 

การป้องกันแนวบ้านรั้วบ้านนั้นสามารถทำได้โดยการติดตั้งกล้องแบบกันน้ำโดยหันออก แล้วกำหนดตั้งให้ถ้าหากว่ามี motion การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ให้มัน Push Notification และ Trigger เตะระบบร้องเตือนของบ้านได้ทันที ให้หันกล้องและ motion sensor ทั้งหมดออกมาในแนวทางเดินนอกบ้านที่เป็นพื้นที่ประเภทที่ (1) และ เราจะเปิด alarm ได้ตลอดทั้งวัน เพราะ ไม่ว่าเวลาใดๆ เมื่อมีการเคลื่อนไหวบนหลังคาเพื่อนบ้าน หรือมีการปีนรั้ว หรือ มีการเดินรอบบ้านในแนวคสล.บ้าน ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมการเข้าพื้นที่ที่เป็นโจรอย่างแน่ชัด ให้ระบบร้องทันที เพื่อให้โจรรู้ตัวว่า ระบบกันขโมยของบ้านได้ทำการแจ้งเตือนกับเจ้าบ้านแล้ว และ เสียงเตือนบ้านนั้นดังเพื่อ “แจ้งโจรให้ทราบ” ว่าคุณถูกตรวจพบแล้ว ไม่ต้องเข้ามาในบ้านชั้นที่ลึกไปกว่านี้ ให้กลับไปซะ ถ้าไม่อยากเจ็บตัวไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม 

รู้หรือเปล่าว่ากล้องวงจรปิดทำงานตอนกลางคืนแบบ OUTDOOR ได้ไม่ดีเท่าไรนัก

แม้ว่าเดี๋ยวนี้กล้อง IP หรือกล้อง WIFI จะได้รับความนิยมและประหยัดเงินมากกว่าแต่ก่อนมากนัก แต่การที่มันทำงานตอนกลางคืนด้วยการพ่นรังสี IR ไปพื้นที่ทั้งหมดแล้วรับการสะท้อนแสง IR เหล่านั้นกลับมาเป็นภาพขาวดำ ภาพเหล่านั้น มันให้ความเข้าใจและความละเอียดของภาพได้น้อยเอามากๆ หากว่า คุณเริ่่มฉายภาพไประยะที่ไกลออกไป หรือ อาจจะเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะเอากล้องไปส่องออกไปนอกบ้านและจะเห็นคนเดินผ่านในระยะไกลกว่า 3 เมตร ทำให้การติดตั้งกล้องนั้นกลางเป็นตัวที่ทำงานได้ไม่ดีเท่าใดนัก เว้นแต่ว่า กล้องนั้นจะมีการติดตั้ง PIR sensor หรือ Motion sensor ประเภทที่เมื่อมีคนเดินผ่านแล้วความร้อนมันแตกต่างระหว่างตารังผึ้งของกล้องแล้ว ให้ทำการแจ้ง Push Notification เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือพร้อม Alarm กริ่งร้องดังที่บ้าน จะทำให้คนที่พยายามจะบุกรุกเรานั้นเลือกที่จะไม่เข้ามาในพื้นที่ได้ 

หลอกโจรได้ด้วยการทำให้แสงสว่างเปิดปิดแบบสุ่มยามวิกาล

ด้วยระบบ Smart Home Automation แล้ว เราสามารถกำหนดได้ให้หลอดไฟชุดหนึ่งๆ (เราเรียกว่าเป็นแก้งค์หนึ่ง) ให้มันเปิดๆปิดได้ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน เพราะ เป็นเวลาคนที่หลับกันหมดแล้ว และ เป็นเวลาที่เหล่าคุณโจรออกหากินกัน เมื่อเวลานั้นมาถึง หากว่าเขาพบว่า ห้องเป้าหมายชั้นสอง มีการเปิดปิดไฟ มันจะทำให้ภาพเหมือนกับว่า เจ้าของบ้าน หรือ คนในบ้านเดินไปเดินมาได้หลับนอนอยู่ หรือ นอนไม่หลับ ทำให้ลุกมาทำอะไรตอนกลางคืน เดินมาห้องนี้เพื่อมาเอาของ ดื่มน้ำ หรือสุดแล้วแต่จะจินตนาการ เรากำหนดหลอดไฟให้เปิดปิดอย่างสุ่มตลอดห้วงเวลาเที่ยงคืนยันตีสี่ได้ และ นี่เป็นการป้องกันทำให้เหมือนว่าเจ้าของบ้านอยู่หรือมีคนอยู่บ้าน แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่บ้านก็ตามที ข้อแนะนำสำหรับการหลอกโจรด้วยวิธีการนี้ คือ ให้เราเลือกชุดไฟที่ดวงไม่มากนัก และ ห่างออกจากหน้าต่างประมาณหนึ่งเพื่อทำให้เห็นแสงได้ แต่ยังคงมองเข้ามาในบ้านได้ไม่สะดวกนัก เพราะ เป็นกลุ่มไฟบางส่วนเท่านั้น ทำให้เกิดความกังกา กังวล ไม่แน่นอน เมื่อโจรคิดจะบุกรุกเข้ามายังพื้นที่ 

วิธีการใช้งาน TUYA สำหรับการออกแบบป้องกันขโมย

โจทย์สำหรับการอธิบายนี้ เราอยากจะตั้งค่าให้เมื่อเวลา 22:00 น.ทุกวันเมื่อถึงเวลาแล้ว PIR motion sensor ทุกตัวทำงาน โดยหากว่ามีการตรวจพบว่ามีการเคลื่อนไหวระบบจะต้องร้องเตือนไปยังไซเรน 

สำหรับโจทย์นี้ เราจะต้องมีีอุปกรณ์ต่อไปนี้ในระบบแล้ว คือ 

  1. PIR motion sensor 
  2. Siren

ขั้นตอนที่ 1 : กำหนดเงื่อนไขระหว่างอุปกรณ์

เริ่มต้นให้เรากำหนดเงื่อนไขในแอพ TUYA หรือ SMART LIFE APP กันก่อน โดยไปที่ อัจฉริยะ > ระบบอัตโนมัติ แล้วกด (+) ที่ด้านบนขวา 

ให้เราตั้งค่าเหมือนกับภาพ คือ “ถ้าหากว่า มีการเคลื่นไหว แล้วให้ไซเรนร้องดัง” 

กดได้จาก “When device status changes” > “เลือก PIR motion ที่เรากำลังจะใช้” > เลือก “PIR State” > เลือก “Motion detector” 

แล้วหน้าจอจะแสดงให้เรากำหนดว่า “แล้ว…” จะทำอะไรกันต่อ หรือ หน้าจดแสดงคำว่า “Set up task” โดยให้เราเลือก “Run the device” > เลือก “ไซเรนที่เราอยากจะใช้” > เลือก Alarm Volume ระดับอะไรก็แล้วแต่ และ เลือก Alarm ON/OFF ให้เป็น “ON” และเลือก Alarm Time แล้วแต่ที่เราอยากจะให้มันดัง 

สุดท้ายเราได้หน้าจอแสดงรายการ “อัจฉริยะ” มาเหมือนกันภาพนี้โดยประมาณ 

หากสังเกต : ว่าเราสามารถจะ ON/OFF ถ้าแล้วรายการนี้ได้เป็นแบบ Toggle Switch ถ้าหากว่าอยากจะเปิด Manual เราก็กดเองก็ได้ หรือ สำหรับโจทย์นี้ เราจะทำ Automation ว่าเมื่อถึงเวลา 22:00 น. ให้ ถ้าแล้วรายการนี้ เปิดทำงาน 

ขั้นตอนที่ 2 : กำหนดเงื่อนไขเวลา

ขั้นตอนนี้ เรากำลังระบบตั้งให้ระบบดูเวลาว่า ถ้าหากว่าเป็น 22:00 น. ให้ถ้าแล้วในขั้นตอนที่ 1 ทำงานเป็นสถานะเปิด โดยวิธีการกดก็ทำตามนี้ 

เข้าไปที่ อัจฉริยะ > กด (+) > กดไปที่ “กำหนดการ” > เลือกเวลา 22:00 และเลือกทำซ้ำเป็นทุกวัน แล้วกด ถัดไป > เลือก Select smart scenes > เลือกการทริกเกอร์อัตโนมัติ > เลือกเงื่อนไขถ้าแล้วจากขั้นตอนแรก โดยเลือกเป็น เปิดงาน 

แบบนี้ก็เป็นอันเสร็จแล้ว

แต่ว่า … จริงแล้ว มีวิธีการทีี่ดีกว่านั้น คือ การเลือกให้เป็นการเลือกฉากแทนก็น่าจะเหมาะกว่า โดยให้เราคิดแบบนี้ คำว่า ฉาก นั้นจะเริ่มจากการสร้างปุ่ม Tap-to-run โดยให้เราคิดว่า ถ้าหากว่า ถ้าหากว่าตอน 22:00 น. เราไม่ได้ตั้งให้ระบบทำงาน เราเลือกที่จะกดปุ่มเอง หรือ ตอนที่เราออกจากบ้าน ไม่อยู่บ้านตั้งแต่สามทุ่ม เราอาจจะอยากกดปุ่มเพื่อให้ระบบป้องกันขโมยทำงาน ปุ่มที่ว่านี้ เราสามารถสร้างระบบแอพเอาไว้ก่อนได้ แล้ว เราก็ทำเหมือนกับกระบวนการขั้นที่ 2 แต่แทนที่จะเลือกเป็น “ทริกเกอร์อัตโนมัติ” เราก็เลือก “ฉาก” แทนมันก็้คือ เลือกให้เหมือนกับการกดปุ่มที่เรากำลังจะสร้างนี้นั่นเอง 

เอาล่ะ เรามาเริ่มสร้างปุ่มกด เพื่อเปิดระบบกันขโมยกันดีกว่า 

กดไปที่ Tap-To-Run > (+) เลือก Motion Sensor > PIR state > Motion Dectector > Run the device > เลือก Siren ตัวที่เราอยากให้ดัง > แล้วก็เลือกให้ ไซเรนดัง  เราอาจจะตั้งชื่อ TAP TO RUN BOTTON นี้ว่า “ป้องกันเต็มพิกัด”ก็ได้

แถม : คุณอาจจะอยากลองสร้างปุ่ม TAP TO RUN เพื่อเอาไว้หยุดไซเรนโดยเฉพาะเองก็ได้ เพราะ เมื่อไซเรนดังมันจะน่ารำคาญเอามากๆ ให้เรากดปุ่มลัดเพื่อหยุดเสียงมันได้ก็น่าจะดีกว่า ลองทำกันเองดูนะ ไม่น่าจะยากอะไรเท่าไหร่นัก หากว่า ยังทำไม่ได้แปลว่า .. คุณยังคงงงๆอยู่น่ะแหละ

เมื่อเรากลับมาจากกระบวนการนี้เราก็จะได้ปุ่มใน TAP TO RUN แล้วหนึ่งปุ่ม ต่อจากนี้ คุณก็กลับไปที่ หน้าอัจฉริยะหน้าแรก เพื่อสร้าง (+) โดยเลือกกำหนดเวลาเป็น 22:00 น. เพื่อให้ ฉาก ที่ชื่อใน TAP TO RUN ทำงาน

เอาเป็นว่าสำหรับการอธิบายการตั้งค่ากันขโมยอัตโนมัติตามโจทย์ก็เสร็จแล้วสมบูรณ์ และ ที่เหลือ คือ คุณต้องไปลองตั้งให้ตอนเช้าตีสี่ ก็ให้ปลดระบบกันขโมยอัตโนมัติเองในทุกๆวันลองดู

คำค้นหาของคุณที่มาเจอหน้าเว็ปนี้:

  • https://www rackmanagerpro com/how-to-use-tuya-app-automation/
Submit your comment

Please enter your name

Your name is required

Please enter a valid email address

An email address is required

Please enter your message

rackmanagerpro.com © 2024 All Rights Reserved

Rackmanagerpro.com all right reserved 2007 - 2019

Copyright by Rackmanagerpro.com

Content Creted by Rackmanagerpro.com